เมนู

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 6.อัพยากตวรรค 5.อรักเขยยสูตร
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง 6 ประการพระผู้มีพระภาค
ตรัสบอกแล้ว ในผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง 6 ประการนั้น ข้าพระองค์ไม่เพียงแต่
เชื่อพระผู้มีพระภาคเท่านั้น แต่ยังทราบอีกด้วย ส่วนผลแห่งทานที่จะพึงเห็นเอง
ประการที่ 7 ที่พระผู้มีพระภาคตรัสบอกข้าพระองค์อย่างนี้ว่า ‘สีหะ ทายก ทานบดี
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ ข้าพระองค์ยังไม่ทราบ แต่ในข้อนี้
ข้าพระองค์เชื่อพระผู้มีพระภาค”
“ข้อนั้นเป็นอย่างนั้น สีหะ ข้อนั้นเป็นอย่างนั้น สีหะ คือ ทายก ทานบดี
หลังจากตายแล้ว จะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์”
สีหเสนาปติสูตรที่ 4 จบ

5. อรักเขยยสูตร
ว่าด้วยฐานะที่พระตถาคตไม่ต้องรักษา
[58] ภิกษุทั้งหลาย ฐานะ 4 ประการนี้ ที่ตถาคตไม่ต้องรักษา และตถาคต
ไม่ถูกติเตียนด้วยฐานะ 3 ประการ
ฐานะ 4 ประการที่ตถาคตไม่ต้องรักษา อะไรบ้าง คือ
1. ตถาคตมีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ไม่มีกายทุจริตที่จะต้อง
รักษาว่า ‘คนอื่นอย่าได้รู้กรรมนี้ของเรา’
2. ตถาคตมีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ไม่มีวจีทุจริตที่จะต้อง
รักษาว่า ‘คนอื่นอย่าได้รู้กรรมนี้ของเรา’
3. ตถาคตมีความประพฤติทางใจบริสุทธิ์ ไม่มีมโนทุจริตที่จะต้องรักษาว่า
‘คนอื่นอย่าได้รู้กรรมนี้ของเรา’
4. ตถาคตมีอาชีวะบริสุทธิ์ ไม่มีมิจฉาอาชีวะ(เลี้ยงชีพผิด)ที่จะต้องรักษาว่า
‘คนอื่นอย่าได้รู้กรรมนี้ของเรา’
นี้คือฐานะ 4 ประการที่ตถาคตไม่ต้องรักษา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :112 }


พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต 6.อัพยากตวรรค 5.อรักเขยยสูตร
ตถาคตไม่ถูกติเตียนด้วยฐานะ 3 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ตถาคตมีธรรมที่กล่าวไว้ดีแล้ว เราไม่เห็นนิมิต1นี้ว่า ‘สมณะ พราหมณ์
เทวดา พรหม หรือใครๆ ในโลก จักทักท้วงเราด้วยคำพูดที่มีเหตุผล
ในธรรมนั้นว่า แม้เพราะเหตุนี้ ท่านจึงมิใช่เป็นผู้มีธรรมที่กล่าวไว้
ดีแล้ว’ เราเมื่อไม่เห็นนิมิตแม้นั้น จึงถึงความเกษม ไม่มีความกลัว
แกล้วกล้าอยู่2
2. เราได้บัญญัติไว้ดีแล้วซึ่งข้อปฏิบัติที่ให้ถึงนิพพานโดยวิธีที่สาวกทั้งหลาย
ของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่
ในปัจจุบัน เราไม่เห็นนิมิตนี้ว่า ‘สมณะ พราหมณ์ เทวดา พรหม
หรือใครๆ ในโลก จักทักท้วงเราด้วยคำพูดที่มีเหตุผลในธรรมนั้นว่า
แม้เพราะเหตุนี้ ท่านมิได้บัญญัติไว้ดีแล้วซึ่งข้อปฏิบัติที่ให้ถึงนิพพาน
โดยวิธีที่สาวกทั้งหลายของท่านปฏิบัติตามแล้ว ย่อมทำให้แจ้ง
เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ฯลฯ’ เราเมื่อไม่เห็นนิมิตแม้นั้น จึงถึง
ความเกษม ไม่มีความกลัว แกล้วกล้าอยู่
3. สาวกบริษัทของเราหลายร้อย ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ
ฯลฯ เราไม่เห็นนิมิตนี้ว่า ‘สมณะ พราหมณ์ เทวดา พรหม หรือ
ใครๆ ในโลก จักทักท้วงเราด้วยคำพูดที่มีเหตุผลในธรรมนั้นว่า
แม้เพราะเหตุนี้ สาวกบริษัทหลายร้อยของท่าน มิได้ทำให้แจ้ง
เจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วย
ปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ เราเมื่อไม่เห็นนิมิตแม้นั้น
จึงถึงความเกษม ไม่มีความกลัว แกล้วกล้าอยู่
ตถาคตไม่ถูกติเตียนด้วยฐานะ 3 ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ฐานะ 4 ประการที่ตถาคตไม่ต้องรักษา และตถาคตไม่ถูก
ติเตียนด้วยฐานะ 3 ประการนี้แล
อรักเขยยสูตรที่ 5 จบ

เชิงอรรถ :
1 นิมิต ในที่นี้หมายถึงธรรม คือเมื่อแสดงธรรม พระองค์ก็ไม่เห็นธรรมที่กล่าวไม่ดีแม้สักบทหนึ่ง และหมาย
ถึงบุคคล คือ พระองค์ไม่เห็นบุคคลแม้สักคนเดียวที่อุปัฏฐากพระองค์แล้วยังดิ้นรนกล่าวอยู่ว่า ‘ท่านกล่าว
ธรรมชั่ว ท่านกล่าวธรรมไม่ดี’ (องฺ.สตฺตก.อ. 3/58/192)
2 ดู องฺ.จตุกฺก. (แปล) 21/8/13

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 23 หน้า :113 }